คุณหมอคะ เมื่อวานนี้แม่ได้สอบถามความก้าวหน้าที่โรงเรียนของลูก และได้ข้อมูลมาดังนี้ค่ะ
พฤติกรรมการเรียน : ในชั้นเรียนน้องให้ความสนใจในเนื้อหาและเรื่องที่ครูสอน น้องฟังครู แต่มักมองไปในทางอื่นขณะฟัง
บางครั้งน้องเล่นและคุยกับเพื่อนบ้างขณะเรียน เมื่อคุณครูถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อหา น้องเข้าใจและตอบคำถามได้
ในเรื่องของการเตรียมอุปกรณ์การเรียน น้องมักเตรียมไม่ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาที่มีหนังสือหลายเล่ม
น้องจะเตรียมเพียงบางเล่มขึ้นมา คุณครูจะช่วยโดยคอยเตือนและเพื่อนที่นั่งข้างๆก็จะช่วยเตือนน้องเช่นกัน
ส่วนการทำงานแบบฝึกหัดนั้น คุณครูประจำวิชาต้องคอยเตือนให้น้องเริ่มทำ ซึ่งตามความจริงแล้วน้องสามารถทำได้
แต่จะไม่เริ่มลงมือทำเอง ต้องอาศัยการเตือนให้ลงมือทำจากคุณครู และมีบ้างบางครั้งที่น้องสามารถทำแบบฝึกหัดได้
อย่างรวดเร็วเร็วและว่องไว ส่วนเรื่องกิจกรรมในชั้นเรียนนั้นน้องให้ความร่วมมือปฏิบัติได้ดี เช่นการพูดหน้าชั้นเรียน
และการนำอ่านหน้าชั้นเรียน นอกเหนือจากนี้ น้องซักถามในสิ่งที่ตนเองสงสัยได้ โดยใช้คำถาม อะไร และทำไม
พฤติกรรมด้านสังคม : การพูดคุยกับคุณครู น้องพูดคุยได้ดี และตอบคำถามคุณครูด้วยประโยคที่ยาวมากขึ้น
ไม่เป็นคำๆ สั้นๆ ห้วนๆเหมือนช่วง Summer อย่างไรก็ตามน้องก็ยังพูดจาไม่ค่อยมีหางเสียง ต้องคอยเตือนให้พูดลงท้าย
ว่าครับจะได้สุภาพ น้องสามารถพูดและเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองและเพื่อนๆได้ดีขึ้น เช่นเมื่อไม่นานมานี้
น้องxxxโดนมีดบาด เมื่อคุณครูถามน้องxxx น้องปุนที่นั่งข้างกันก็ตอบแทนน้องxxx และเล่าให้คุณครูฟังว่า
น้องxxxโดนมีดบาดมืออย่างไร ซึ่งโดยปกติน้องxxxจะเป็นคนชอบตอบคำถามแทนเพื่อนเสมอ แต่ครั้งนี้แย่งตอบไม่ทัน
และบางครั้งน้องปุนก็จะมีเรื่องมาเล่าให้คุณครูแต่ละท่านฟังบ้าง ตามความสนใจของน้อง สำหรับการพูดคุยกับเพื่อนๆ
น้องมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยและเล่นกับเพื่อนๆมากขึ้น จากการสังเกต น้องเป็นเด็กอารมณ์ดี เล่นกับเพื่อนคุยหยอกล้อกัน
ยังไม่มีกรณีทะเลาะกันหรือโกรธกัน ในห้องเรียนบางครั้งน้องชอบทำให้เพื่อนสนุกสนานด้วยการทำเสียงแปลกๆ พอ
เพื่อนๆเฮฮา น้องก็จะยิ้มชอบใจ การแสดงออกต่างๆของน้องอยู่ในขอบเขตคือ รู้จักพอ รู้จักหยุดเมื่อถูกร้องขอ และไม่ดื้อรั้น
เพื่อนๆที่น้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยมากขึ้น คือน้อง... น้อง... น้อง... น้อง... และน้อง...
สิ่งที่แม่ประเมินได้จากข้อมูลนี้และข้อมูลรอบด้านของลูกคือ ระบบการรับรู้ความรู้สึกของลูกยังติดขัดอยู่ ลูกจึงยังไม่สามารถสงบจดจ่อได้ในทุกสถานการณ์
อันนี้ได้ข้อมูลประกอบจากการประเมิน SI ว่าลูกยังต้องได้รับการส่งเสริมทั้งระบบสัมผัส ระบบข้อต่อ และระบบการทรงตัว
แต่ลูกมีสัมพันธภาพกับเพื่อนนอกกลุ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะยังอยู่ในระดับเด็กที่เล่นภาษาท่าทาง น้ำเสียง แต่ถ้า
เพื่อนที่ไปกลับด้วยกันทุกวัน ลูกสามารถพูดคุยสื่อสารไปมาได้เกิน 10 รอบการสนทนา แต่เมื่อเริ่มมีอารมณ์ด้านลบกับเพื่อน
ลูกมักจะยังหลบเลี่ยง และปฏิเสธการพูดคุยถึงเหตุการณ์นั้นๆ ลูกยังทนสีหน้าท่าทางในอารมณ์ด้านลบกับเพื่อนได้ไม่ดีนัก
ลูกเล่นสมมติได้หลากหลายขึ้น ยอมให้มีการตายบ้างบางครั้ง แต่ถ้าไม่ยอมให้ตายก็มีเหตุผลว่าถ้าตายไปแล้วเดี๋ยวลูกเหงา
แสดงถึงการที่ยังแยกเรื่องจริงกับสมมติไม่ได้ ลูกบอกเล่าเรื่องราวใน รร มากขึ้น โดยพูดบอกออกมาเอง รวมทั้งเล่าเรื่องในด้านลบ
ใน รร มากขึ้น แต่ยังปฏิเสธว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดกับตัวลูกเอง แต่เกิดกับเพื่อน ตัวเองไม่เกี่ยว ลูกมีคำถามทำไมอยู่ตลอด
มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้ใครช่วย ลูกเริ่มกล้าโกรธพี่ชายแรงๆ ล่าสุดโกรธขนาดเงื้อมมือตีพี่ ก็กำกับกันไป
แต่ดีใจที่เริ่มออกมาแล้ว เพื่อจะได้ไปต่อขั้นต่อไป ลูกรู้จักหาพวกเวลาโกรธแม่หรือพ่อ โดยจะชวนให้พ่อหรือแม่ไม่ต้องไปเล่น
กับอีกฝ่ายที่ลูกโกรธ และรู้จักหาเหตุผลอื่นๆ ให้กับเหตุการณ์ต่างๆ แต่ยังเปรียบเทียบได้ไม่เก่งนัก ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ได้และ
"เถียงคำไม่ตกฟาก" แต่ลักษณะการเถียงอาจเป็นแบบ "แถๆ" อยู่ ลูกเล่นกับเพื่อนใหม่ได้ในเวลาไม่นานนัก และสามารถจดจ่อ
เล่นด้วยได้เป็นเวลานาน แต่การเล่นอาจยังเป็นแค่เล่นในสนามที่ยังไม่ได้รับรู้อารมณ์อะไรกันมากมายนัก ลูกดูมั่นใจมากขึ้น
กับชีวิตที่ รร ลูกกล้าออกไปตอบคำถามเวลามีกิจกรรมรวมเด็กทั้ง รร (เด็กประมาณ 300 คน) และมักได้รับรางวัล อาจเป็นเพราะ
ครูช่วยลุ้นและช่วยชงให้ลูกได้รับโอกาสด้วยก็เป็นได้ มักมีรุ่นพี่ผู้หญิงเข้ามาพูดคุยกับลูก เมื่อถามก็บอกว่าร้องเพลงให้พี่เค้าฟัง
พี่ชายมักกลับมาเล่าว่าครูภาษาอังกฤษชอบชมว่าลูกเก่ง และพูดถึงอยู่บ่อยๆ
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ดีขึ้นกว่าเดือนที่แล้วในทุกๆ ด้าน
คุณหมอเห็นเป็นอย่างไรบ้างคะ