Gusjungเองครับ
น้องกัซอายุ 1.4 ปีแล้ว ยังไม่ยืน(ตั้งไข่) ไม่พูด เป็นคำที่มีความหมาย ไม่มองหน้าคน และมัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเกร็งช่วงครึ่งตัวท่อนล่าง แม่จึงคิดจะพาลูกไปหาหมอและสงสัยว่าลูกเป็นอะไรกันแน่
ตอนแรกตา-ยายเลี้ยงด้วยโทรทัศน์ มาตั้งแต่เกิดและไม่ได้สอนพูดเป็นคำ น้องไม่ค่อยได้มีโอกาสยืน และเดิน เวลาที่เรียกชื่อไม่หัน สอนให้บ้าย บาย ก็ไม่ทำ จึงย้ายมาอยู่บ้านของปู่กับย่าได้ 2 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากย่าเคยเลี้ยงเด็กมาก่อนน้องเริ่มดีขึ้น รู้จักหันเมื่อเรียกชื่อ บ้าย บายได้ เริ่มยกมือสวัสดีได้
พาน้องกัซไปตรวจประเมินพัฒนาการ 2 ที่คือที่ 1.โรงพยาบาลราชบุรี ได้พบหมอเด็กที่เป็นหมอรักษาโรคทั่งไป หมอบอกว่าดูไม่ออกยังไม่รู้และอีก 6 เดือนค่อยมาหาหมอพัฒนาการเด็ก แม่ใจร้อนจึงส่งพาลูกไปที่ 2.โรงพยาบาลเด็ก ได้พบกับนักิจกรรมบำบัด เขาบอกให้แม่พาน้องกัซมากระตุ้นพัฒนาการก่อน อีก 6 เดือนได้คิวพบหมอ
แม่จึงพาน้องกัซไปฝึก si ที่บ้านของนักกิจกรมมบำบัดที่ราชบุรี ซึ่งพ่อของน้องกัซแนะนำมา ไปฝึกได้ ประมาณ 3 ครั้ง กัซร้องไห้และไม่ยอมเข้าไปในห้องฝึก ต้องเอาแม่ไปด้วย และกอดแม่ไว้ตลอดเวลา แม่จึงเลิกฝึก เพราะคิดว่าในเมื่อลูกไปฝึกแล้วลูกไม่มีความสุข ไปฝึกก็คงไม่ได้อะไร
ต่อมากัซได้คิวที่จองไว้ที่สถบันพัฒนาเด็กและและครอบครัว กับครูเก๋
สรุปผลการฝึกกับครูเก๋ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ( งานคลินิค ) ฝึก Floortime การบ้านที่ต้องทำ ก่อนจะครบรอบนัดอีกทีวันอังคารที่ 12/7
สิ่งที่ครูเก๋บอก
1. ต้องจีบกัซให้ติด เล่นให้ติดใจในอารมณ์สนุกได้นาน ๆ มาก ๆ ประมาณ ครึ่งชั่วโมง ด้วยวิธการคือ กระโดด สัมผัสร่างกายหนัก ๆ เล่นหวาดเสียว เช่นการกระโดดตามเพลง , การจับโยนขึ้นบนฟ้า , การจับแก่วงตัวไป-มา แล้วโยนลงที่นอน , การล็อคตัวไว้เวลาที่จะวิ่งไป , การทำแซนวิสด้วยหมอนใหญ่ ๆ , การปีนโหนตัว , เล่นร่อนเครื่องบิน , ขี่หลังเล่นขี่ม้า , ม้วนตัวในผ้าห่มหรือที่นอนผืนใหญ่
2. หยุด SI ไว้ก่อน หรือถ้าจะทำให้ทำที่มีหลักการ FT เหมือนกัน
3.ต้องพูดน้อยแสดงภาษากายให้มาก แสดงออกทางหน้าตาและแววตาให้มากแสดงสีหน้าเว้อ ๆ เช่นเวลาที่เจ็บให้แม่ขมวดคิ้ว ทำปากยู้ ๆ
4. เวลาทำอะไรต้องทำด้วยกัน เช่นเวลาที่กัซเคาะก็เคาะด้วยแล้วเคาะเป็นจังหวะ ป๊อก ......ปอก ป๊อก ไปเรื่อย ๆ 5. มองหน้าและคอยสังเกตุแววตา ท่าทางลูกว่าเค้าแสดงความรู้สึกยังไง บ้างหรือไม่
6.เลิกเล่นของเล่นไปก่อนหรือ ถ้าเค้าเล่นอะไรได้ไม่นานก็ไม่ต้อง ซีเรียส ไม่ต้องสนใจ สนใจแค่เค้าเล่นกับเราอยู่ไหม เค้าสนใจเราอยู่ไหม เค้าสนุกอยู่ไหม แล้วสนุกได้นานไหม เอาแค่นี้ก่อน ไม่ต้องพยายามไปดึงกลับมาเนื่องจากเค้ายังไม่พร้อมจะกลับมาเนื่องจากสมองของเค้ายังไม่พร้อม สมองมันสั่งให้ร่างกายไป ร่างกายมันก็ต้องทำตามหยุดไม่ได้ เอาไว้เมื่อไหร่ที่เพราะชินกับการนิ่งในการทำกิจกรรมนานต่อเนื่องซักพัก อาจจะเป็น 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน แล้วแต่ว่าระบบข้างในมันสับสนวุ่นวายแค่ไหน แล้วค่อยชวนให้กลับมาต่อก็จะต่อได้เพราะเค้าพร้อมแล้วที่จะสนใจ จดจ่อ
7.ต้องนิ่งและมีสติตลอดเวลา จิตใจต้องจดจ่อที่ลูกให้ได้เพื่อจะได้ตามความรู้สึกลูกได้ทัน
สรุป การบ้านการฝึก FT ครั้งที่ 1
1. ตาม ตลอดเวลาทุกกิจกรรมการเล่น ( ตื้อ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ )ไม่ว่าเขาจะเล่นอะไรก็ตามไปเล่นด้วยทุกอย่าง ตามไปเล่นในสิ่งที่เขากำลังเล่นอยู่ เราแค่เล่นตามเขาอย่างเดียวเท่านั้น ทำการเล่นคนเดียวให้กลายเป็นการเล่นด้วยกันให้ได้
2. ต้องมีแม่ทุกสถานการณ์ แม่ต้องอยู่เคียงข้างทุกอารมณ์ที่เขารู้สึก บอกอารมณ์ที่เขารู้สึก ร่วมรู้สึกกับเขา และค่อย ๆ ผ่อนคลายความรู้สึกให้บางเบาลงจนกระทั่งหายไป
ถามเรื่องการสรุปพฤติกรรมเบื้องต้นว่ากัซเป็นออร์ทิสติกหรือไม่ ( ครูเก๋ตอบว่า )
ครูเก๋ตอบว่ายังตอบไม่ได้ว่าเด็กเป็นหรือไม่ แต่จากการสังเกตุพฤติกรรมเห็นว่า เด็กน่าจะอยู่ในกลุ่มออร์ทิสซึมสเป็กตรัม คือมีอาการเป็นบางอย่าง ที่น่าสงสัยแต่ทั้งนี้พ่อแม่ต้องพาน้องกัซไปตรวจให้ละเอียดกับกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็กอีกทีหมอจะวินิจฉัยว่าน้องกัซเป็นอะไร ระดับไหน และหมอจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบที่น้องมีปัญหา และส่งบำบัดหรือฟื้นฟูกายภาพต่อไป(ด้านร่ายกาย) ส่วนด้านสมอง,จิตใจ,สังคม พ่อแม่ก็ต้องทำ FT ต่อไปจนกว่าลูกจะหลุดจากสเป็กตรัม
อาการที่น่าสงสัย
1. การเดินวน ๆ ตลอดเวลา หยิบโน่นวางนี่ตลอดเวลา เทของออกจากตะกร้า ไม่สามารถสงบ หรือนิ่งได้เลย แม้แต่นาทีเดียว
2. เด็กแสดงออกว่าเด็กไวต่อสิ่งเร้ามาก เมื่อเค้ากำลังเล่นอะไรอยู่แล้วตาเหลือบไปเห็นของเล่นจะลุกขึ้นเดินไปหาตะกร้าทันทีโดยไม่หันกลับมามองหรือสนใจสิ่งที่กำลังเล่นอยู่เลย จะแสดงอาการกระตุ้นตัวเองโดยการสะบัดมือ ,จ้องของหมุน , เพื่อให้ตัวเองสงบลง
3. ชอบเดินหนีคนไปซุกตัวตามซอกตู้
4. เด็กสบตาน้อย ไม่ค่อยสนใจคนจะสนใจเฉพาะคนที่เล่นสนุกเท่านั้น ยังไม่สามารถสื่อสารโดยการใช้น้ำเสียง , สีหน้า , ท่าทางได้ ( ไม่สามารถบอกความต้องการได้ )สามารถสื่อสารได้สั้นที่สุด 2 วินาทีและยาวนานที่สุด 1 นาที ( สื่อสารได้น้อยที่สุด 3 วงรอบ ในอารมณ์สนุก และสื่อสารได้มากที่สุด 10 วงรอบในอารมณ์สนุก )
5. เด็กเล่นของเล่นไม่เป็น
6. มีภาษาเป็นของตัวเอง และพูดทวนคำ
วันนี้แม่น้องกัซขอรายงานผลการทำ FT ค่ะคุณหมอ
การประเมินผลแม่ในการทำ FT มา 2 เดือน เริ่ม 4/5/2554
พัฒนาการระดับที่ 1 สนใจ จดจ่อ
กัซมีความสนใจจดจ่อในการเล่นกับคนได้นานที่สุด 5 นาที แต่มีความสนใจจดจ่อในการเล่นกับของเล่น ได้เอง นานสุด 15 นาที โดยเฉพาะกัซชอบอ่านหนังสือ และร้องเพลงมาก
พัฒนาการระดับที่ 2 สัมพันธภาพระหว่างคนใกล้ชิด
ตอนนี้กัซเริ่มจะมองแม่มากขึ้น รู้แล้วว่ามีแม่อยู่ในโลก และไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรอยู่จะหันหน้ามาหาแม่ตลอด เวลากลัว , ตกใจ , ดีใจ ,เสียใจ ก็หาแม่อย่างเดียว
เรื่มมีอารมณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อารมณ์สนุกแล้วคือ โกรธ , โมโห และเริ่มงอนเป็น ตกใจ , กลัว , แต่ยังไม่เคยมีอารมณ์อิจฉา
พัฒนาการระดับที่ 3 ภาษากาย
กัซยังใช้ภาษากายได้ไม่ดี ยังไม่มีสีหน้าในอารมณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อารมณ์และ อามรมณ์โรธ ไม่ได้ดังใจ
ภาษากายของกัซที่ทำได้แล้วแน่ ๆ คือ การยกมือไหว้ , บ๊ายบาย เวลาอยากกินอะไรจะเอามือมาจิ้ม ๆ ในจาน แล้วพูดว่าหม่ำ ๆ
ผลสรุปการทำ FT กับน้องกัซ ตอนนี้น้องกัซทำได้ถึงพัฒนาการ ระดับ 4 แล้วแต่ยังไม่เต็มขั้นซักกะขั้นนึง โดยเฉพาะพัฒนาการระดับที่ 1 และ 2 รากฐานมันเล็กมากเลย
กัซหยุดทำ SI มาได้ 1 เดือนแล้วเนื่องจากครูเก๋เห็นว่ากัซยังไม่สนใจ จดจ่อ ฝึกไปจะไม่ได้ประโยชน์ ได้แต่การออกกำลังกายเท่านั้น ซึ่งทำที่บ้านก็ได้
โดย khemjira เมื่อ 30/07/2011,10:22 , IP : 110.164.169.207
สรุปรายละเอียดได้แล้ว อย่าลิมสรุปภาพรวมความก้าวหน้าเอาไวดูผลด้วยนะคะ
ข้อควรระวัง คือ การให้เขาจดจ่อกับกิจกรรมที่ไม่ได้ทำร่วมกับคนมากเกินไป และกิจกรรมอย่างการอ่านหนังสือ ต้องระวังไม่ให้คุณแม่กลายเป็น "วิทยุ" ที่พอกดปุ่ม คือ ส่งสัญาณแล้ว ก็อ่านไปโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กันนะคะ
โดย กิ่งแก้ว เมื่อ 30/07/2011,17:59 , IP : 115.87.156.184
แม่ก็กลัวตัวเองเป็นวิทยุค่ะ
แม่ได้รับคำเตือนนี้มาจากครูเก๋ ครั้งนึงแล้วค่ะ
ตอนแรก ๆ ที่ครูเก๋เตือน แม่ก็พยายามเบี่ยงเบนความสนใจ เปลี่ยนการอ่านหนังสือเป็นเกมส์ และชวนกัซไปเล่นอย่างอื่นกัน แต่กัซยืนยันจะอ่านหนังสือเท่านั้น แสดงอาการหงุดหงิด ฟึดฟัด ฟาดงวงฟาดงา งอน และเสียใจร้องไห้ถึงกับไม่ยอมกินข้าวที่แม่ป้อน แม่จึงต้องยอมอ่านหนังสือในที่สุด
แม่จึงเปลี่ยนวิธีการอ่านหนังสือแบบใหม่ โดยทำให้น้องกัซสนใจแม่มากกว่าหนังสือโดยวิธีการ
1.ทำน้ำเสียงสนุก เสียงโทนสูงต่ำ ทำทำนองผสมการอ่าน อ่านเป็นจังหวะเพลงที่กัซชอบ มีการเต้นและทำท่าระหว่างการอ่าน ที่ไม่ซ้ำกันทุกวัน ( กัซจะหัวเราะ สนุก และเต้นตาม )
2.แม่จำข้อความในหนังสือให้ได้ทุกเล่ม แกล้งอ่านไปหยุดไป แกล้งอ่านผิด เอาข้อความของหนังสือเล่นอื่นมาอ่านต่อ ( กัซจะคอยลุ้นและแสดงท่าทางอยากให้แม่อ่านต่อ )และรอคอยให้แม่อ่านถึงหน้านั้น บางครั้งก็เปิดหาเฉพาะหน้านั้นเพื่อให้แม่อ่าน
3.แม่เพิ่มข้อความหนังสือที่เกี่ยวข้องกัน
เช่นหนังสือเล่ม 1 มีคำว่าผักบุ้ง หนังสืออีกเล่มมีคำว่า ผักบุ้งซ้ำกัน เช่น เต่าน้อยเดินหลังตุง กินผักบุ้ง อร่อยจัง ครั้งแรกกัซจะหยุดทำหน้างง และมองหน้าแม่ (นิ่งไปพักนึง ) พอนึกได้ก็จะยิ้มแต่พอมีการอ่านอีกครั้งที่ 2 กัซจะหัวเราะ หรือ ยิ้ม และทำท่าดีใจ
4.แม่แกล้งปิดหนังสือแล้วท่องข้อความในหนังสือเป็นจังหวะเพลงแล้วลุกขึ้นเต้น วันแรกกัซงงค่ะ แต่ก็ยิ้ม พอวันหลังพอแม่ทำอีก กัซก็ลุกขึ้นเต้นเองและชวนแม่เต้นด้วย
5. อ่านหนังสือประกอบการเล่น ด้วยโมเดลผักผลไม้ และโมเดลสัตว์ต่าง ๆ
เช่นเวลาอ่านถึง ผักชนิดไหนก็หยิบโมเดลผักชนิดนั้นขึ้นมาและแม่ก็ทำท่ากัด(สมมุติ)กัซก็คว้าไปกัดบ้าง พูดว่าอ้ำ มองหน้าแม่แล้วก็ยิ้ม
6.เอาตุ๊กตามือมาขยับปากทำท่าอ่านหนังสือ กัซชอบค่ะ แต่เข้ามาแย่งดึงตู๊กตามือไปใส่เอง พอทำท่าขยับปากตุ๊กตาไม่ได้ก็โมโห เราจึงเล่นซ่อนแอบตุ๊กตากัน เพราะนิ้วกัซเล็กเกินไปยังขยับปากตุ๊กตาไม่ได้
การตอบสนองของกัซ รู้สึกสนุกและหัวเราะตลอดเวลาที่อ่านหนังสือด้วยกัน
ผลของความพยายามมา 3 สัปดาห์
ตอนแรกกัซจะชอบดูหน้าหนังสือมากกว่าหน้าแม่ ( 1 เดือน )
ต่อมากัซจะชอบดูหน้าแม่กับหน้าหนังสือพอ ๆ กัน ( 2 สัปดาห์ )
กัซเริ่มสนใจหน้าแม่มากกว่าหน้าหนังสือ ( สังเกตุจากการหันมามองหน้า สบตา หันมายิ้มหัวเราะและมีกิจกรรมร่วมระหว่างการอ่านหนังสือ ) ( 1 สัปดาห์ )
บางวันแม่ก็คิดไม่ออก หมดมุขค่ะ
วิธีการนี้พอจะใช้ได้ไหมคะ เนื่องจากกัซไม่มีความสนใจในการเล่นอย่างอื่นค่ะ เขายังเล่นของเล่นไม่เป็น และการเล่นแบบถึงเนื้อถึงตัว หรือการกระโดดกัซก็เล่นได้น้อยรอบลง เวลาที่กัซเต้นหรือกระโดด(ไม่มีใครจับ)ได้ซักพักเขาจะล้มลงนั่ง ทำให้กระโดดและเลิกเต้นได้น้อยรอบกว่าเดิมมาก แม่กำลังสังเกตุอยู่ว่าเป็นเพราะอะไร ยังไม่ทราบค่ะ
เมื่อไหร่ที่กัซเต้นแม่จึงเข้าไปเต้นด้วยและจับมือกัซไว้ให้เขากระโดด แต่ก็กระโดดได้ไม่นานเหมือนเมื่อก่อน เป็นอย่างนี้มา 1 เดือนแล้วค่ะ
แต่สิ่งที่แม่ไม่ต้องชวนเล่นเลยคือหนังสือ
เริ่มต้นจาก
1.พอแม่กลับถึงบ้านปุ๊บกัซจะกระโดดกอดแม่
2.ลากเข้าไปในห้อง
3.ลากไปจนถึงชั้นวางหนังสือ
4.ลากแม่มาที่ต้องการให้นั่ง
5.ดึงแม่ให้นั่งลง
6.หยิบหนังสือยัดใส่มือแม่
7.พูดว่าอ่าน ๆ เป็นอัตโนมัติเลย ( ทำอย่างนี้เหมือนกันทุกวันมาได้ ประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วค่ะ )
ส่วนการเล่นอย่างอื่นส่วนใหญ่แม่จะเป็นคนชวนเล่นค่ะ
โดย khemjira เมื่อ 01/08/2011,13:22 , IP : 110.164.168.247
แม่จีบกัซติดแล้วค่ะ ทุก ๆ ที่ที่กัซไปหรือกัซทำอะไรต้องมีแม่อยู่ข้าง ๆ ตลอด ถึงแม้ว่าจะไปเล่นกับเพื่อนหรือไปทำอะไรสายตาของกัซจะคอยมองแม่ตลอดว่าแม่จะไปไหนจะทำอะไร ห้ามหายไปจากระยะสายตาของเขา
เมื่อวันพฤหัสไปพบครูเก๋ที่สถาบันตามนัดมาค่ะ ครูเก๋ไฟเขียวเรื่อการไปฝึก SI แล้วค่ะ เนื่องจากกัซเริ่มออกจากโลกของตัวเองมากขึ้นแล้ว หลังจากที่แม่หยุดพากัซไปฝึก SI มา 2 เดือน กัซมีปัญหา SI เรื่องเกี่ยวกับข้อต่อ ค่อนข้างหนักเลยค่ะ เพราะเขย่ง และ กระโดดตลอดเวลา แม่น้องกัซก็จะไปฝึกที่บ้านครูหยกตามที่ครูเก๋แนะนำมาค่ะ
ส่วนเรื่องพัฒนาการด้านภาษาพูด กัซสามารถพูดได้ติดกัน 2 พยางค์ได้ สามารถบอกความต้องการและยืนยันความต้องการได้ เช่น ฟังเพลง กินข้าว หิว แกะ ไปเที่ยว จะเอา จะซน จะออกไปดู จะเปิด แปรงฟัน อาบน้ำ
สามารถเรียกสมาชิกในบ้านได้ถูกต้องทุกคน
สามารถเล่นกับผู้ใหญ่อื่นๆที่ไม่ใช่สมาชิกในบ้าน และเด็กที่อายุมากกว่า( 6-10 ขวบ )ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครชี้ชวน
ปัญหาของกัซตอนนี้คือ ไม่ค่อยมีสีหน้าและอารมณ์ที่แตกต่างกัน คือยังมีหน้าเดียวอยู่ ครูเก๋แนะนำให้แม่พูดน้อยลง เลิกพากษ์ ให้พูดสั้น ๆ บวกกับภาษากาย และสีหน้าตามอารมณ์นั้น ซึ่งมันยากมากค่ะ แม่ต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ เพราะเป็นคนพูดมาก แต่ก็จะพยายามค่ะ
โดย khemjira เมื่อ 10/09/2011,11:10 , IP : 183.88.40.32
เมื่อวานไปอบรมพัฒนาการระดับ 1-4 มาค่ะ
ตอนนี้แม่ติดปัญหาคือยื้อไม่ได้นาน , หมดมุข , ยื้อไม่สนุก ,
กัซล้นบ่อย ๆ เวลาแม่เชียร์ และคอยลุ้น เช่นตบมือและพูดว่าไชโย กัซจะร้องไห้ทันที
อามรมณ์ตกใจกัซก็จะมีปัญหาคะ คือเวลาที่เขาตกใจ เขาจะสะดุ้ง และร้องไห้ค่ะเมื่อก่อนไม่เคยร้องเลย
ได้ดูตัวอย่างเกี่ยวกับการยื้อ ลุกและการฝึกสังเกตุลูกมาแล้วค่ะ ก็หวังว่าตัวเองจะทำได้ดีขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้กัซเริ่มจะ ยื้อได้น้อยลง เท่าที่ปรึกษาคุณหมอแก้วตาบอกว่ากัซน่าจะเบื่อวิธีการแบบซ้ำ ๆ ให้แม่ลองปรับ และเปลี่ยนวิธีการดู
แม่ก็จะลองเป็นพวกเดียวกันให้มากกว่านี้ โดยให้เขาชนะเยอะ ๆ , สนุก , พูดสั้น ๆ
สนองความต้องการทุกอย่างที่ลูกอยากได้ ปรับน้ำเสียงให้น่าตื่นเต้น ทำหน้าตาท่าทางสนใจเขาให้มาก ๆ และไม่แอบหวังจำนวนรอบในใจให้มากเกินไปค่ะ
เวลาที่กัซริเริ่ม ( เข้ามาชวนเล่นแม่ก็จะพยายามสังเกตุให้ไว ตอบสนองให้เร็ว และ ถูกที่ถูกใจค่ะ )แม่ก็กลัวตัวเองไม่ทันลูกค่ะ เพราะเค้าจะไวมาก เลยเดี๋ยวนี้ไม่เฉื่อย เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เวลาต้องการอะไรจะมาแว๊บเดียว แล้วหายไปเลย ต่อก็ไม่ติด แม่เลยเอาแต่นั่งจ้องกัซตลอดเลยค่ะ กลัวพลาด