หน้า 1 จากทั้งหมด 2

แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: ศุกร์ 16 พ.ค. 2014 12:42 am
โดย stetirun
สวัสดีค่ะคุณหมอ
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อนค่ะ ดิฉันเป็นแม่ของน้องพิน น้องได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก (ชักเหม่อ) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 57 เนื่องจากเคยชักครั้งแรกเมื่อตอนน้องอายุ 1 ขวบครึ่ง (หลังจากฉีดวัคซีน) และครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนมีนา ตอนนี้น้องกินยากันชักมาได้เดือนกว่าๆ แล้วค่ะ

ปัจจุบันน้องพินอายุ 2 ขวบ 4 เดือน พูดได้เพียงคำเดียวได้ไม่ถึง 20 คำ สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้บางอย่างเท่านั้น เช่น ขึ้น-ลงบันได เปิด-ปิดประตู ทิ้งขยะ เป็นต้น โดยภาพรวมเหมือนน้องจะยังไม่ค่อยเข้าใจคำสั่ง ก็เลยไม่สามารถทำตามได้
น้องเริ่มเดือนเมื่อตอน 1 ขวบ ปัจจุบันวิ่งเร็ว ขึ้น-ลงบันไดได้เองแบบช้าๆ ระมัดระวัง กระโดดไม่เป็น
ตอนน้องอายุ 1 ขวบ 11 เดือน ดิฉันเคยสงสัยว่าน้องพินอาจจะเป็นออทิสติก ก็เลยพาน้องไปหาหมอหลายแห่ง แต่ไม่มีใครวินิจฉัย เนื่องจากน้องจะมองตามแม่ตลอดเวลา หมอบอกแต่เพียงว่า น้องขาดทักษะด้านสังคม (ตอนทดสอบ พ่อและแม่ออกจากห้องตรวจตอนน้องเผลอ แต่น้องไม่ร้องเรียกหา เหมือนไม่รู้ว่าพ่อแม่หายไป) มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือมัดเล็กเทียบเท่าเด็ก 1 ขวบกว่า (เนื่องจากยังกินข้าวหก ถือแก้วน้ำเพื่อกินน้ำจากแก้วเองไม่ได้) รวมทั้งควรปรับพฤติกรรม (น้องพินเอาของทุกอย่างเข้าปาก)
ในระหว่างที่ดิฉันและสามี กำลังสับสน หาสาเหตุ ว่าน้องเป็นอะไรนั้น ดิฉันจะอยู่ใกล้ชิดและเล่นกับน้องมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน ดิฉันรู้สึกได้ว่า น้องดีขึ้น จะเริ่มมองหน้า สบตามากขึ้น ประกอบกับมีหมอท่านนึงได้แนะนำ floortime ให้ดิฉันไปลองศึกษาดู หลังจากนั้น ดิฉันจึงเริ่มใช้เทคนิค floortime (กุมภา 57) เป็นต้นมา โดยที่ไม่สนใจแล้วว่า น้องจะเป็นอะไรกันแน่ คิดแต่เพียงว่า จะต้องหาวิธีให้น้องพินดีขึ้นให้ได้

พัฒนาการปัจจุบัน

1. เล่นเสียง น้องเริ่มเล่นเสียง เช่น "มา ม่า"

น้องพิน : "มา ม่า"
แม่ : ชี้ไปที่หมา แล้วพูดคำว่า "หมา"
น้องพิน : มองหน้า สบตา พร้อมทั้งพยายามจะพูดตาม แต่ก็เพี้ยนๆ ฟังไม่ชัด

2. ภาษาต่างดาว น้องพินเริ่มจะบ่น พูดภาษาที่ฟังไม่ออก(แซวๆกับญาติว่า พูดเหมือนภาษาอินเดียเลย :lol: ) อยู่ดีๆ ก็พูดขึ้นมาเอง

3. อาการกลัว น้องพินเริ่มแสดงอาการกลัวหมา จากเดิมถ้าเจอหมาจะมองอยู่นิ่งๆ แต่ตอนนี้จะเดินมาเกาะดิฉัน และแสดงสีหน้าออกมาเล็กน้อย
แต่สำหรับลูกพี่ลูกน้อง (ช) ที่ชอบแกล้ง ตี กัด น้องพินกลับอยู่นิ่งๆ ได้แต่เอามือมาป้องไว้เมื่อจะโดนแกล้ง ไม่แสดงอาการ รวมทั้งไม่มาหาดิฉันเลย :cry:

4. การกิน จากเดิมน้องพินจะกินทุกอย่าง (เหมือนไม่รู้ว่าอะไรอร่อย หรือไม่อร่อย ชอบหรือไม่ชอบ) แต่ตอนนี้น้องเริ่มเลือกที่จะไม่กินกับข้าวซ้ำ จะเลือกกินมากขึ้น แต่ถ้าเป็นขนม น้องจะถือสองมือแล้วรีบๆ กินเข้าปาก เพื่อจะได้กินชิ้นใหม่ โดยที่ไม่ยอมเคี้ยว มีหลายครั้งที่อาเจียนออกมา เพราะกินไม่ทัน หรือไม่ก็จะคายของในปาก เพื่อจะได้กินอันใหม่

5. พฤติกรรมเอาของเข้าปาก ยังคงเป็นอยู่ ถ้าไม่มีอะไรเข้าปาก ก็จะใช้มือตัวเองล้วงเข้าปาก และถ้าตอนกล่อมนอน น้องจะเอามือมาใส่ปากดิฉัน และล้วงๆ เขี่ยๆ ดึงๆ คล้ายๆ กับการกล่อมตัวเองเพื่อให้หลับ

น้องพิน : กำลังเอามือเข้าปากตัวเองอยู่
แม่ : "เอาออก" (พร้อมทั้งแกะมือออกจากปากน้อง)
น้องพิน : ใส่มือเข้าไปใหม่
แม่ : แกะมือออกจากปากอีก
น้องพิน : ใส่มือเข้าไปใหม่ พร้อมทำเสียงขู่ในลำคอ (คงกำลังหงุดหงิดอยู่)
แม่ : แกะมือออกจากปากน้อง
น้องพิน : เกร็งมือไม่ยอมให้แกะมือออกจากปาก พร้อมทำเสียงขู่ในลำคออีก
แม่ : "ปล่อย" (ทำเสียงแข็ง พร้อมทั้งทำหน้าดุ และพยายามแกะมือออก)
น้องพิน : ยอมคลายมือให้เอาออก

6. ติดแม่มากขึ้น ถ้าดิฉันเดินไปไหน แล้วน้องไม่เห็น จะส่งเสียงเรียก

แม่ : "เดี๋ยวแม่ไปเข้าห้องน้ำนะ"
น้องพิน : ละสายตาจากการเล่นเพลินๆ แล้วร้อง "ฮะ" พร้อมมองหน้าแม่
แม่ : "แม่เข้าห้องน้ำ"
น้องพิน : "ฮะ"
แม่ : "แม่ไปฉี่"
น้องพิน : "ฮะ"
แม่ : "แม่ไปฉี่ เฉอะแฉะๆ" (พร้อมกับเดินไปที่ห้องน้ำ)
น้องพิน : เดินตามมา
แม่ : ปิดประตูเพื่อเข้าห้องน้ำ
น้องพิน : เคาะประตู ส่งเสียงเรียก "แอ้" (ดิฉันแทนตัวเองว่า แม่)
แม่ : "แม่ฉี่อยู่"
น้องพิน : "แอ้" (พร้อมทั้งเคาะประตูเป็นระยะๆ) แล้วซักพักก็เงียบไป
แม่ : เปิดประตูห้องน้ำออกมา เห็นน้องพินยืนรออยู่หน้าประตู

7. การวางแผนสั่งการกล้ามเนี้อ วันนี้ดิฉันได้ลองวางเก้าอี้ไว้ไกลโต๊ะกินข้าว แล้วนำจานข้าววางไว้บนโต๊ะ พร้อมกับเรียกน้องให้มาหม่ำ โดยคาดหวังว่าจะให้น้องเลื่อนเก้าอี้เข้าใกล้โต๊ะ แล้วนั่งกินข้าวด้วยช้อน

แม่ : "น้องพินกินข้าว"
น้องพิน : ยืนกินข้าว
แม่ : "น้องพินนั่งเก้าอี้" (พร้อมทั้งชี้ไปที่เก้าอี้)
น้องพิน : มองหน้าแม่ แล้วนิ่ง ซักพักก็เดินไปที่เก้าอี้ที่อยู่ไกลๆ แล้วนั่งลงจริงๆ แต่พอน้องเห็นว่า ไม่สามารถกินข้าวได้ น้องก็ลุกขึ้นเดินมายืนกินข้าวที่โต๊ะ
แม่ : เลื่อนเก้าอี้มาใกล้ๆ เพื่อให้น้องนั่งกินข้าว
น้องพิน : นั่งกินข้าวด้วยช้อน ซักพักพอเริ่มใช้ช้อนไม่ถนัด (ไม่สามารถตักชิ้นหมูในจากได้) ก็จะใช้มือหยิบกินแทนช้อน
แม่ : "น้องพินใช้ช้อนกินข้าว" (พร้อมกับหยิบช้อนให้น้องใช้)
น้องพิน : โยนช้อนทิ้งลงพื้น พร้อมกับกินข้าวด้วยมือ
แม่ : "น้องพินเก็บช้อน"
น้องพิน : มองหาช้อน
แม่ : "น้องพินเก็บช้อน ช้อนอยู่ตรงโน้น" (พร้อมทั้งชี้ไปที่ช้อน ที่อยุ่บนพื้ัน)
น้องพิน : มองตามไปที่ช้อน แต่ไม่เก็บ พร้อมทั้งกินข้าวด้วยมือต่อไป
แม่ : ดิฉันบอกหลายครั้ง แต่น้องก็ไม่เก็บช้อน จนต้องเดินไปเก็บช้อนมาป้อนข้าวเอง

8. กล้ามเนื้อมือมัดเล็ก ดิฉันหยิบของเล่นที่เป็นพวกการร้อยเชือกมาให้น้องเล่น เพื่อหวังจะพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็กของน้อง เนื่องจากน้องยังไม่สามารถเปิดประตูลูกบิดเองได้ ไม่สามารถถือแก้วกินน้ำเองได้ (น้ำหกเลอะเสื้อ) และอื่นๆอีกหลายอย่างที่ดิฉันคิดว่าเป็นปัญหา

แม่ : "นี่อะไร" (พร้อมทั้งหยิบของเล่นมาโขว์)
น้องพิน : มองตาม และคว้ามาหยิบถุงของเล่น และพยายามจะรูดซิบออก พอรูดซิบออกได้นิดหน่อย ก็พยายามเทของเล่นออกมา
แม่ : มองดูน้องว่าจะทำยังไงต่อ เพราะของเล่นไม่หลุดออกมา
น้องพิน : น้องพยายามเทซักพัก ก็เริ่มจะเบี่ยงเบนความสนใจ
แม่ : "นี่ไง" (ช่วยเทของเล่นออกมา)
น้องพิน : หันกลับมามอง และหยิบเชือกเพื่อจะมาร้อยใส่รู แต่ร้อยไม่ได้ ก็เริ่มเบี่ยงเบนความสนใจอีก
แม่ : หยิบเชือกมาร้อย "พิน ดึงเชือก"
น้องพิน : ดึงเชือกตามคำบอก แต่ทำได้ไม่กี่อันก็กลายเป็นโยนของเล่นแทน
แม่ : โยนของเล่นตาม
น้องพิน : หัวเราะชอบใจ แล้วโยนอีก
แม่ : โยนตามอีก ทำอย่างไปได้หลายรอบ แม่ก็เริ่มผูกปมเชือกแบบหลวมๆ เข้ากับของเล่นเพื่้อให้แค้าแกะออกมาก่อนโยน
น้องพิน : พยายามแกะ แล้วโยน
แม่ : โยนของเล่นตาม
น้องพิน : หัวเราะชอบใจ
แม่ : พยายามผูกปมให้แน่นขึ้น
น้องพิน : เริ่มแกะไม่ออก ก็เลยเดินไปทางอื่น

9. กลัวคนแปลกหน้า ตอนนี้เริ่มกลัวผู้ชายตัวใหญ่ มีญาติคนนึงตัวอ้วนใหญ่ พอน้องเห็นทีไร จะมองตามตลอด เค้าเดินไปไหน ก็มองตาม (เหมือนกลัวเล็กๆ ) แต่สำหรับตอนไปเดินห้าง พอไปเจอครอบครัวไหนที่มีเด็ก น้องพินจะปรี่เข้าไปหา
หรือบางครั้งพอเดินสวนกับใครในห้าง ก็จะเดินไปจูงมือคนแปลกหน้าซะงั้น ดิฉันเลยเริ่มสงสัยว่าตกลงน้องติดแม่มากพอหรือยัง ทำไมน้องยังไม่กลัวคนแปลกหน้า

คำถามค่ะ

1. จนถึงตอนนี้ ดิฉัพพาน้องพินไปพบนักบำบัดได้ 3 ครั้ง นักบำบัดบอกว่าน้องดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ จะนัดอีกครั้งนึงแล้วจะส่งต่อ แต่นักบำบัดพูดเปรยๆ ว่า ไม่รู้ว่าควรจะส่งต่อไปที่ SI หรือ ฝึกพูดดี ไม่ทราบว่าคุณหมอเห็นควรอย่างไรดีคะ
2. พัฒนาการต่างๆ ที่ดิฉันเล่ามา ไม่ทราบว่า คุณหมอเห็นว่า น้องอยู่ในระดับใดแล้วคะ แล้วควรจะต่อยอดอย่างไรต่อไปดีคะ
3. ไม่ทราบว่า พัฒนาการและการเรียนรู้ที่ล่าช้าของน้องพิน จะมีความสัมพันธ์กับโรคลมชักหรือไม่คะ เพราะดิฉันไม่แน่ใจว่า น้องดีขึ้นเกิดจากการกินยากันชัก หรือจากการฝึกด้วยวิธี floortime

รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำ ติเตียนด้วยนะคะ ดิฉันมือใหม่ หัดฝึก จะพยายาม และขยันค่ะ :)
ขอบคุณมากค่ะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: ศุกร์ 16 พ.ค. 2014 6:36 am
โดย กิ่งแก้ว
คำถามที่ถามว่าควรฝึกอะไรต่อ ตอบว่าอะไรก่อนก็ได้ ที่คุณแม่สะดวก แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นนักบำบัดในกลุ่มของเรา

ที่แนะนำอย่างนี้ เพราะเหตุว่า ในส่วนฟลอร์ไทม์ของคุณแม่ยังคลาดเคลื่อนอยู่มากพอสมควร คือยังมีการหวังผลลัพท์ และเน้นพฤติกรรม "ที่ถูกต้อง" ค่อนข้างเยอะ เรียกได้ว่าเส้นทางฟลอร์ไทม์ยังไม่ตรง ...ถ้าไม่บอกกัน เกรงว่า นานวันเข้าจะเบี่ยงออกนอกเส้นทางไปไกล

ทั้งตัวอย่างตอนที่ลูกเอามือเข้าปาก และตอนกินข้าว

ดิฉันไม่แน่ใจว่านักบำบัดของคุณแม่ทราบเรื่องนี้หรือยัง และแนะนำอะไรไปแล้ว หรือว่านักบำบัดของคุณแม่ใช้เพียงบางส่วนของฟลอร์ไทม์

ส่วนเรื่องที่ไม่แน่ใจว่าลูกดีขึ้นเพราะอะไร คุณแม่ก็ลองค่อย ๆ ทบทวนดูนะคะ

ที่ดีขึ้น คือ ติดแม่มากขึ้น สื่อสารกับแม่มากขึ้น

คำถาม ยากันชักทำให้เด็กรักแม่ ได้หรือ ?

ดิฉันไม่ได้บอกว่ายากันชักไม่สำคัญ แต่ยาจะทำหน้าที่ในส่วนของยา ไม่ให้เด็กชัก เพื่อให้คนดูแลทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการไปค่ะ

หากหวังผลเลิศ ต้องได้ทั้งหลักการและวิธีการนะคะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: อาทิตย์ 18 พ.ค. 2014 11:07 pm
โดย stetirun
ขอบคุณที่คุณหมอแนะนำมากค่ะ ในส่วนของหลักการและวิธีการที่คลาดเคลื่อน ดิฉันขอยอมรับค่ะ คงเพราะยังชินกับแบบ ABA อยู่ รวมทั้งยังคาดหวังกับน้องเยอะด้วยค่ะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 19 พ.ค. 2014 6:06 am
โดย กิ่งแก้ว
ค่อย ๆ ปรับไปค่ะ ทราบจากนักบำบัดที่ดูแลน้องพินอยู่ว่าตอนนี้เริ่มเล่นสนุกได้แล้ว และกำลังพยายามช่วยให้คุณแม่ลดความร้อนใจ และสลัดหลุดจากการจับจ้องอาการ รวมทั้งสนุกกับกระบวนการที่ไม่หวังคำตอบที่ถูกต้องด้วยค่ะ

ก็น่าจะไปต่อได้ดีค่ะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 19 พ.ค. 2014 11:24 pm
โดย stetirun
วันนี้มีเรื่องกังวลมาปรึกษาค่ะ.
คือว่า ดิฉันเตรียมน้ำดื่มใส่ขวดนมให้น้องพิน (น้องเป็นเด็กไม่ชอบกินน้ำ. ก็เลยต้องผสมน้ำแดงใส่ขวดนม). แต่พอน้องดื่มได้ซักพัก. ก็เปิดฝาเทน้ำแดงทิ้งลงพื้นจนหมดขวด. พอพ่อน้องพินเห็นก็พูดเสียงดังและเดินออกไปจากตรงนั้น. ดิฉันก็รีบเอาไม้ถูพื้นมาเช็ด. และก็ได้สังเกตเห็นว่าน้องพินเค้ายืนนิ่ง และหน้านิ่งไปเลย. แถมยังเอามือดึงผมตัวเองออกมาเรื่อยๆ. พอผมหลุดออกมา. ก็หยิบเส้นผมมาดู. ดิฉันจึงรีบอุ้มน้องมากอดและปลอบทันที. แต่น้องก็ไม่หยุดดึงผมตัวเอง. จนพ่อน้องพินได้ยินเหตุกาณ์จึงเข้ามากอดน้องและหยอกล้อ. ทั้งชวนอาบน้ำ (ปกติชอบเล่นน้ำ) ก็ยังไม่เลิกดึงผม. จนคุณย่าเข้ามา น้องพินวิ่งไปหาพร้อมชี้ชวนให้ออกไปข้างนอก. คุณย่าชวนน้องเล่นด้วยพักใหญ่ ดิฉันจึงเริ่มเห็นว่าน้องเป็นปกติ. จึงพาน้องไปอาบน้ำต่อได้
ดิฉันไม่แน่ใจว่า เหตุการณ์แบบนี้ เรียกว่า น้องหลุดหรือเปล่าค่ะ. ดิฉันอุ้มและปลอบน้องเพราะคิดว่าน้องคงเสียใจ. ดิฉันทำถูกหรือเปล่าคะ แล้วการดึงผมเนี่ย. คือการแสดงออกอย่างหนึ่งของน้องเพื่อบอกอะไรบางอย่างหรอคะ
รบกวนคุณหมอช่วยชี้แนะด้วยคะ. เพราะพักหลังดิฉันเริ่มเห็นน้องดึงผมตัวเอง. ดิฉันไม่แน่ใจว่า. มีเหตุการณ์อะไรที่ไปกระทบจิตใจน้องรึป่าว

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 20 พ.ค. 2014 11:33 am
โดย กิ่งแก้ว
ลองคิดแทนเค้าสิค่ะ

เพิ่งลืมตาดูโลก ยังไม่รู้จักกฏเกณฑ์

อยากรู้ อยากลอง

แล้วเจอเสียงดังใส่ (ถึงแม้คนอื่นจะบอกว่าไม่ดัง)

แบบไม่คาดฝัน

คนที่ควรจะปลอบ ก็ไปทำอย่างอื่น

คุณแม่ว่าเค้าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้

ความเข้าใจอย่างแท้จริง แบบสงบ ๆ โดยไม่ฟูมฟายหรือตกใจเกินเหตุ คือจุดตั้งต้น

ดิฉันบอกไม่ได้ว่าควรทำอย่างไรในเหตุการณ์แบบนี้

บอกแต่ว่าควรจะรู้สึกอย่างไร

เมื่อมีทัศนคติที่พอดีพอเหมาะแล้ว ท่าทีที่ถูกจะออกมาเอง

สภาการณ์ตอนนี้มีแต่ขาดมั่ง เกินมั่งค่ะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 20 พ.ค. 2014 11:35 am
โดย กิ่งแก้ว
รบกวนผปค.ท่านอื่นช่วยหน่อยนะคะ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: ศุกร์ 23 พ.ค. 2014 10:34 am
โดย พ่อน้องฟ้า
1.คือว่า ดิฉันเตรียมน้ำดื่มใส่ขวดนมให้น้องพิน (น้องเป็นเด็กไม่ชอบกินน้ำ. ก็เลยต้องผสมน้ำแดงใส่ขวดนม). แต่พอน้องดื่มได้ซักพัก. ก็เปิดฝาเทน้ำแดงทิ้งลงพื้นจนหมดขวด. พอพ่อน้องพินเห็นก็พูดเสียงดังและเดินออกไปจากตรงนั้น.
พ่อน้องฟ้า : ความอยากรู้จักกับการ “เปิดฝาเทน้ำทิ้งลงพื้น” คงยังไม่หมดไป แต่ถึงน้องจะเลิกทำสิ่งนี้
น้องก็คงอยากรู้จักกับสิ่งอื่นๆอีก เช่น ทิ้งแก้วน้ำลงพื้น เทของ (ปกติเด็กเล็กๆ ก็ชอบเทน้ำลงพื้นนะ) มันเป็นความอยากรู้
มันเป็นความสนุก มันเป็นความสุข แต่เมื่อสิ่งนั้นถูกตอบสนองจากคนใกล้ตัว ในลักษณะที่ดูเหมือนจะน่ากลัวสำหรับเขา
ถ้าเป็นเด็กทั่วไป ก็คงร้องไห้ และเข้าหาคนที่ไว้ใจ แต่เชื่อไหมน้องยังทำแบบนั้นไม่ได้ จึงแสดงออกอย่างที่คุณแม่ว่า (ผมเข้าใจคุณแม่ครับ เพราะ น้องฟ้าเคยผ่านตรงนี้มา)

2.ดิฉันก็รีบเอาไม้ถูพื้นมาเช็ด. และก็ได้สังเกตเห็นว่าน้องพินเค้ายืนนิ่ง และหน้านิ่งไปเลย แถมยังเอามือดึงผมตัวเองออกมาเรื่อยๆ. พอผมหลุดออกมา. ก็หยิบเส้นผมมาดู.
พ่อน้องฟ้า : น้องพินเค้ายืนนิ่งและหน้านิ่ง ไม่ได้แปลว่าเข้าไม่รู้สึก แต่ด้วยข้อจำกัดของเขาทำให้แสดงออกมาได้แค่นั้น
(แสดงอารมณ์ออกมาไม่ได้) ถ้าน้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตามแนวฟลอร์ไทม์ ที่ถูก น้องก็สามารถทำได้เช่นกัน

4.ดิฉันจึงรีบอุ้มน้องมากอดและปลอบทันที. แต่น้องก็ไม่หยุดดึงผมตัวเอง.
พ่อน้องฟ้า : เรื่องการปลอบก็สำคัญมากๆ เช่นกันครับ และส่งผลต่อหลายสิ่งหลายอย่างระหว่างเรากับลูก
การปลอบ ต้องถูกที่ ถูกเวลา ถูกท่าทาง ทั้งน้ำเสียง สัมผัส และยาวนานเพียงพอต่อความรู้สึกของลูก
คุณแม่ต้องไปเรียนรู้จากนักบำบัดฟลอร์ไทม์ หรือหาอ่านในบอร์ด แต่เท่าที่ผมสัมผัส การปลอบที่ได้ผลจะต้องเป็น
การปลอบที่เราต้องรู้สึกเห็นใจ เข้าใจลูกอย่างแท้จริง ถ้าเรามีเรื่องบางเรื่องกังวลอยู่ในใจระหว่างปลอบแม้แต่น้อย
(เช่นเรื่องดึงผม) การปลอบก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร

5.จนพ่อน้องพินได้ยินเหตุการณ์จึงเข้ามากอดน้องและหยอกล้อ. ทั้งชวนอาบน้ำ (ปกติชอบเล่นน้ำ) ก็ยังไม่เลิกดึงผม.
พ่อน้องฟ้า : คุณพ่อเพิ่งทำให้น้องเขาตกใจกลัวมากๆ จะมาทำแบบนั้นไม่ได้หรอกครับ ที่สำคัญ เรากำลังทำผิด
แนวทางฟลอร์ไทม์ ถ้ายังไม่เข้าใจภาพรวมๆ ก็อธิบายยากครับ

6.จนคุณย่าเข้ามา น้องพินวิ่งไปหาพร้อมชี้ชวนให้ออกไปข้างนอก. คุณย่าชวนน้องเล่นด้วยพักใหญ่ ดิฉันจึงเริ่มเห็นว่าน้องเป็นปกติ. จึงพาน้องไปอาบน้ำต่อได้
พ่อน้องฟ้า : น้องเห็นคนที่จะช่วยให้เขารู้สึกดี ปลอดภัย พึ่งพาได้ ซึ่งต้องอาศัยสัมพันธภาพที่ดี(คุณย่าคงมีสิ่งนี้)
แล้วทำไมน้องไม่ทำอย่างนั้นกับคุณแม่ ลองปรึกษานักบำบัดฟลอร์ไทม์ดูนะครับ

7.ดิฉันไม่แน่ใจว่า เหตุการณ์แบบนี้ เรียกว่า น้องหลุดหรือเปล่าค่ะ. ดิฉันอุ้มและปลอบน้องเพราะคิดว่าน้องคงเสียใจ. ดิฉันทำถูกหรือเปล่าคะ
พ่อน้องฟ้า : คำตอบเหมือน ข้อ 4.

8.แล้วการดึงผมเนี่ย คือการแสดงออกอย่างหนึ่งของน้องเพื่อบอกอะไรบางอย่างหรอคะ
พ่อน้องฟ้า : เวลากลัว ตกใจ โกรธ พวกเราทำอะไรกันบ้างครับ แกะเล็บ กัดเล็บ ใจเต้นแรง ฉีกเสื้อผ้า กรีดร้อง
ทำร้ายคนนั้น ทำลายข้าวของ หรือแม้แต่จุดไฟเผาบ้าน ถ้าเรามีทางออกที่ดีกว่า เช่น พูดระบายกับเพื่อน เดินเล่น ฯลฯ
ก็คงเลือกทำแล้วครับ หลายท่านในวงฟลอร์ไทม์ จะพูดว่า ถ้าน้องเขามีทักษะที่ดี(สูง)กว่านี้ น้องก็จะไม่ทำแบบนี้

หวังว่าคงมีประโยชน์นะครับ

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 04 ส.ค. 2014 10:30 pm
โดย stetirun
สวัสดีค่ะคุณหมอ หลังจากที่ห่่างหายไปนานพอควร วันนี้มีเรื่องมาปรึกษาอีกแล้วค่ะ
ตอนนี้น้องพินเริ่มจะมีพูดออกมาบ้างเล็กน้อย ก่อนนอนดิฉันและแฟนจะเล่นซ่อนแอบในผ้าห่มกับเค้า จนเค้าชวนมาเล่นด้วย ซึ่งเราจะบอกว่า 'ถ้ำ' แต่น้องพินจะพูดคำว่า 'ฮูก' แทน เพราะมาจากการที่ดิฉันเปิดเพลงที่มีนกฮูกให้เค้าดู
ขอยกอีกตัวอย่างนะคะ
น้องพินจะเรียกดิฉันว่า 'หยา' (ชื่อเล่น) เพราะเค้าได้ยินพ่อเรียก แต่น้องพินกลับใช้คำนี้เรียกคนอื่นด้วยค่ะ
ดิฉันก็เลยอยากทราบว่า ดิฉันควรทำอย่างไรต่อไปดีคะ เพื่อให้น้องพินสามารถพูดได้ตรงตามสถานการณ์

Re: แม่น้องพิน มือใหม่หัดฝึก floortime ค่ะ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 05 ส.ค. 2014 7:04 am
โดย กิ่งแก้ว
ต้องให้เขาเข้าใจพลังของการสื่อสาร

ว่าสื่ออะไร จะได้อะไร

โดยต้องช่วยให้เขาสื่อสารโต้ตอบด้วยภาษากายได้ชัดเจนและต่อเนื่อง

เรื่องคำว่าถ้ำ ไม่น่าจะใช่คำเพื่อสื่อสาร แค่ระบุชื่อเฉย ๆ แถมเป็นระดับสัญลักษณ์แทนสิ่งที่อยู่ในจิตนาการ

สรุปแล้ว ดิฉันไม่คิดว่าต้องแก้ ถึงอยากจะแก้ ก็ยังแก้ไม่ได้

เมื่อพื้นฐานการสื่อสารแน่น ผลของการสื่อสารจะช่วยให้เขาเอะใจ และใช้คำให้ตรงความต้องการเอง

ตรงความต้องการของตัวเองก่อนค่ะ