หน้า 1 จากทั้งหมด 1

อารมณ์โกรธกับคำที่ไม่ชอบ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 22 ต.ค. 2012 3:31 pm
โดย kanchana Rachanu
เพิ่งสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของเว็บนี้ ลูกชายเป็นออทิสติกค่ะ ก็ดูแลมาและใช้เทคนิคฟลอร์ไทม์ได้ระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้กำลังเจอเหตุการณ์คือเค้ามีคำที่ไม่ชอบแบบฝังใจมากๆเช่น ระวัง อย่า มองไม่เห็น เป็นต้น พอได้ยินปุ๊บก็จะของขึ้นโกรธคนที่พูดทันที "ตีหน้าคนนี้(หรือชื่อคนถ้ารู้จัก) คนนี้ดุหนู เขวี้ยงของ ปาของ ตีหน้าแรงๆคนนี้" แล้วพยายามจะให้แม่จัดการคนนี้ให้ โดยการพูดเซ้าซี้กับแม่อย่างนี้ตลอด ปัญหาคือเค้ายังแยกแยะอารมณ์ของคนพูดไม่ได้ จำเฉพาะคำพูดที่ไม่ชอบมา พอได้ยินก็ของขึ้นง่ายมาก ช่วงนี้ยิ่งเป็นถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ได้แต่ทำการสะท้อนอารมณ์ให้ลูกรู้ว่าเค้ากำลังโกรธ และแม่รับรู้ว่าเค้าไม่ชอบคำนี้ "หนูโกรธคนนี้ อยากตีให้เค้าเจ็บเลยเนอะ อยากให้เค้าเสียใจ ร้องไห้ หนูไม่ชอบที่เค้าพูดแบบนี้ แม่รู้ลูก" ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ และจะให้พัฒนาไปสู่การทราบถึงสาเหตุของการไม่ชอบคำเหล่านี้ได้อย่างไร คุณหมอกิ่งแก้วช่วยแนะนำด้วยค่ะ

Re: อารมณ์โกรธกับคำที่ไม่ชอบ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 22 ต.ค. 2012 6:36 pm
โดย กิ่งแก้ว
คำถาม คือ อยากรู้สาเหตุว่าอะไรที่ทำให้ลูกไม่ชอบคำพวกนี้

ลองถามเขาหรือยัง

ถามตอนที่เขายังไม่โกรธน่ะ

ถ้าเขาไม่ตอบ ก็ให้ตัวเลือก

ไม่มีใคทราบดีกว่าคนใกล้ชิดค่ะ

ขออภัยตอบยาวกว่านี้ไม่ได้ อาทิตย์นี้งานยุ่งทั้งอาทิตย์เลยค่ะ

รบกวนผู้ปกครองท่านอื่นด้วยค่ะ

Re: อารมณ์โกรธกับคำที่ไม่ชอบ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 22 ต.ค. 2012 11:28 pm
โดย พ่อน้องเฌอแตม
ผมคิดว่าคุณแม่ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่มีสิ่งที่อยากเติมให้นะครับ

"อารมณ์ขัน" ลองเติมมุขขำๆ ไม่เครียดลงไปบ้าง ลองดูนะ

ครับ ถ้าตรงจุดอาจไขสิ่งที่คุณแม่กำลังสงสัยและอยากรู้ออกมา

ก็เป็นได้นะครับ

ลูก: ตีหน้าคนนี้.... คนนี้ดุหนู .....

ลูก: เริ่มปาข้าวของ พยายามให้แม่จัดการคนนี้ให้ได้

แม่: ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเปลี่ยนการใช้ พฤติกรรม(การปาข้าวของ)เป็นการสมมุติดูครับ

แม่: ได้ๆ เดี๋ยวแม่จัดการให้ คนไหนห๊าาา มาทำให้หนู "โกรธ" (ท่าทางขึงขัง ใช้น้ำเสียงแสดงความรู้สึกร่วม)

แม่: งั้น เอาอะไรตีหน้าคนนี้ดีหล่ะ กระบองยักษ์วัดแจ้งดีไหม หรือเรียกครุฑมาไล่จิกคนนี้ดี

(ตรงนี้ก็แล้วแต่ว่าลูกรู้คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งนั้นๆด้วยนะครับ) ลองรอให้ลูกเลือกดูครับ

ลูก: อาจกำลังงงๆว่าวันนี้แม่มามุขใหม่ หรือเริ่มคิดว่ามีพวกแล้ว อาจเลือกอะไรสักอันหนึ่งก็ได้นะครับ

แม่: ถ้าลูกเลือกก็ตามลูกไป ใส่มุขไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่เลือกก็เลือกให้เองก็ได้

กระบองยักษ์วัดแจ้งดีกว่า แม่ว่ามันใหญ่ดีนะ แล้วฟาดให้โดนตรงไหนบ้างหล่ะ

...

ประมาณนี้หนะครับ แล้วก็ต่อออกไปเรื่อยๆ ให้ลูกได้ใช้จินตนาการ ระบายให้เต็มที่

พอลูกเริ่มเย็นลง คุณแม่อาจลองถามว่าเมื่อกี้ที่โกรธหน่ะ

โกรธอะไรเหรอก็ได้ แต่ถ้ายังไม่ตอบ ก็ทิ้งท้ายไว้ได้นะครับ งั้นถ้าลูกอยากบอกแม่ก็บอกได้ตลอดนะ

แม่อยากฟังลูกนะ


ไม่ต้องคาดว่าลูกจะบอกเราได้ทุกอย่าง แต่คิดไว้ครับว่า ถ้าลูกพร้อมแล้วลูกจะบอกเราเอง

ขอเพียงอย่างเดียว คือไม่ว่ายังไงๆ เราก็จะอยู่กับลูกเสมอและเป็นฝ่ายเดียวกันเสมอครับ...


พอได้ไอเดียไหมครับ

Re: อารมณ์โกรธกับคำที่ไม่ชอบ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 23 ต.ค. 2012 6:01 pm
โดย not510tp
คำเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคำที่ ขัดขวาง ขัดใจ ขัดความต้องการของเด็ก

เมื่อเด็กอยากทำอะไร อยากจับอะไร อยากเล่นอะไร หรืออยากไปทางไหน แล้วโดนคำเหล่านี้โผลงขึ้นมา ด้วยน้ำเสียงที่ขึงขัง (และบางครั้งตามมาด้วยการทำโทษ)

แน่นอนครับ เด็กย่อมไม่ชอบใจอย่างแน่นอน จึงทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบมากๆ กับคำพูดเหล่านี้

ถ้าหากลดจำนวนคำเหล่านี้ในชีวิตประจำลงได้บ้าง ก็คงจะช่วยลดสถานการณ์ที่เค้าจะทำให้ลูกวินแตกได้หลายครั้งเลยทีเดียว

อย่างเช่น ไม่อยากให้ลูกเข้าไปใกล้พัดลมที่กำลังหมุนอยู่ เราก็พูดล่วงหน้าไปว่า ตรงนั้นมีพัดลมนะ ระวังอย่าเดินเข้าไปใกล้ หรือระวังมือจะไปแหย่พัดลมนะ

เมื่อลูกเข้าใกล้พัดลมจริงๆ เราจะได้ใช้คำว่า โอ้ว ใกล้พัดลมแล้วนะ หรือ พัดลมอยู่ตรงไหนน้า แทนคำว่า "ระวังพัดลม" (ด้วยน้ำเสียงที่มีอารมณ์แบบที่เด็กไม่ชอบ)

และเมื่อเวลาที่อารมณ์ของเด็กปกติ ก็เอามาเล่นบทบาทสมมุติ เพื่อให้เค้าพอรู้ ถึงสาเหตุที่คนต้องใช้คำพูดเหล่านั้น แล้วความรุนแรงเวลาที่เด็กเจอคำเหล่านี้ ก็น่าจะลดลงครับ


ทำงานสะท้อนอารมณ์ เป็นพวกเดียวกับลูก เพื่อให้เค้ารู้ว่ามีคนเข้าใจเค้า ใช้บทบาทสมมุตเพื่อให้เค้ารู้ถึงสาเหตุของคำเหล่านั้น

และก็บทบาทสมมุติอีกนั่นแหละ ที่จะทำให้เค้าไม่ผังใจกับคำเหล่านี้ หรือลดลงเพราะเค้าเข้าใจที่มาของคำเหล่านั้นมากขึ้น ^^

Re: อารมณ์โกรธกับคำที่ไม่ชอบ

โพสต์เมื่อ: จันทร์ 05 พ.ย. 2012 12:11 am
โดย แม่พร้อม
การรู้สาเหตุ เอาไว้ทีหลังได้ค่ะ

การสะท้อนอารมณ์ให้เค้ารู้เท้าทันอารมณ์ตนเองนั้นสำคัญกว่า ที่คุณแม่ทำดีแล้วค่ะ

แค่พยายามให้เค้าทนอารมณ์โกรธให้ได้ สื่อสารได้นานหลายรอบแม้ยังมีอารมณ์โกรธ เค้าจะโกรธกับคำเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ ไปเอง ไม่ใช่จะไม่โกรธ
นะคะ แต่การรับมือกับความโกรธของลูกจะดีขึ้น ไม่ฟูมฟาย พูดไม่รู้เรื่อง แต่บอกได้ว่าโกรธเรื่องอะไร เพราะอะไร สุดท้ายเค้าจะบอกได้ค่ะ ว่า
ทำไมไม่ชอบคำนั้น คำนี้ ก็มาจากการสื่อสารกลับไปกลับมานี่แหละค่ะ ตอบไม่ได้ให้ตัวเลือก กลับสู่พิ้นฐานเหมือนคุณหมอกิ่งแก้วบอก


ยกตัวอย่างนะคะ ในตอนของขึ้นมากๆ พูดซ้ำๆ แต่สิ่งที่ตัวเองคิด คุณแม่ก็สะท้อนอารมณ์พร้อมทั้ง ทำให้เค้าผ่อนคลายจากการปลอบประโลม
แสดงการเป็นพวกเดียวกัน เข้าอกเข้าใจแบบเพื่อนซี้ สังเกตุการโต้ตอบของลูก ถ้าลูกเริ่มโต้ตอบได้ยาวนาน หลายรอบขึ้น แสดงว่าเค้าสงบลง
เราไม่ได้หวังให้เค้าเลิกโกรธในทันที แต่ให้พูดคุย สื่อสารได้ อย่าลิมถามด้วยนะคะว่า ตอนนี้โกรธน้อยลงหรือยัง ตอนนั้นกับตอนนี้
ตอนไหนโกรธมากกว่า ตอนนี้ยังยังตีอีกไหม

ค่อย ๆ เติมคำถามที่เราอยากรู้ทีละนิด ถ้าไม่ตอบลองให้ตัวเลือกดู คิดว่าถูกผิดไม่เป็นไร แค่ลูกพูดคุยตอนโกรธได้เยอะนี่ก็เป็นผลสำเร็จอย่างที่สุดแล้ว

สู้ๆ นะคะ